หลังจากซื้อบ้านหรือสร้างบ้านเสร็จแล้วก็อาจจะต้องมีการต่อเติมเพิ่มเติมกันบ้าง โดยหลัก ๆ ของงานต่อเติมที่ต่อเติมกันบ่อย ๆ ก็จะเป็นงาน “กันสาด” เพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน เดี๋ยวก็ร้อนเดี๋ยวก็ฝน กันสาดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยปกป้องบ้านและคนในบ้านไม่ให้โดนแดดฝน และยังช่วยให้บ้านสามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้มากขึ้นอีกด้วย
แต่การจะเลือกแผ่นกันสาดก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบัน วัสดุที่จะนำมาใช้ในงานกันสาดก็มีให้เลือกมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งวัสดุหลังคากันสาดก็มีผลกับการใช้งาน ประโยชน์ใช้สอย วิธีการติดตั้ง โครงสร้าง การดูแลรักษา ความสวยงาม และราคา
มินิ โกลด์ เลยสรุปและเปรียบเทียบ ข้อดี ข้อเสีย ของวัสดุหลังคากันสาด แต่ละรูปแบบที่นิยมในปัจจุบันให้คุณเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกวัสดุหลังคากันสาดเพื่อให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
วัสดุหลังคากันสาด เมทัลชีท (Metal Roof Sheet)
เมทัลชีท วัสดุหลังคากันสาดที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน เป็นแผ่นหลังคาผลิตจากโลหะหรือแผ่นเหล็กที่นำมาผ่านการรีดเป็นลอนเพื่อเสริมความแข็งแรง มีความแข็งแรงทนทาน ติดตั้งง่าย มีให้เลือกหลายความหนาตั้งแต่ 0.23 – 0.60 มม. มีการเคลือบผิวหลายแบบและหลายสี มีรุ่นที่ติดฉนวนกันความร้อน สามารถดัดโค้งได้ หาติดตั้งได้ง่าย
ข้อดี : สามารถหาได้ง่าย ติดตั้งง่าย รั่วซึมยาก
ข้อเสีย : สะสมความร้อนสูง แม้จะมีฉนวนแล้วก็ตาม เสียงค่อนข้างดังเมื่อฝนตก
ราคา (รวมโครงสร้าง) : 1,500-2,000 บาท ต่อตารางเมตร
วัสดุหลังคากันสาดไวนิล หรือ หลังคา UPVC (UPVC Roof Sheet)
แผ่นไวนิลเป็นแผ่นที่ผลิตจากวัสดุที่เรียกว่า UPVC (Unplasticized Polyvinyl chloride ) เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความทนทานสูง ตัววัสดุชนิดนี้ในปัจจุบันถูกนำมาผลิตเป็น กรอบวงกบ ประตู-หน้าต่าง ขอบกระจกบานเลื่อน เพราะมีความทนสูงมากทนทานต่อสภาพอากาศ โดยลักษณะของแผ่นหลังคากันสาดไวนิลจะมีลักษณะเป็นแผ่นยาวหน้าแคบเหมือนแผ่นพื้นไม้ ต่อกันด้วยระบบคลิปล็อก แต่ปัจจุบันแผ่นไวนิลมีการขึ้นรูปเป็นแผ่นรูปลอนเมทัลชีท เพื่อให้ง่ายต่อการติดตั้งมากขึ้น เป็นหลังคากันสาดที่มีความนิยมสูงขึ้นในปัจจุบัน ตัวแผ่นสามารถทนความร้อนได้ดีมีคุณสมบติเป็นฉนวนป้องกันความร้อน ทนทานต่อสภาพอากาศ
ข้อดี : แข็งแรงทนทาน เสียงไม่ดังเมื่อฝนตก
ข้อเสีย : ราคาค่อนข้างสูง
ราคา (รวมโครงสร้าง) : 2,400-2,800 บาท ต่อตารางเมตร
วัสดุหลังคากันสาด ไฟเบอร์กลาส (Fiberglass Roof Sheet)
แผ่นหลังคาไฟเบอร์กลาส หรือจะเรียกว่าแผ่นโปร่งแสงไฟเบอร์กลาส ก็ได้เช่นกัน เพราะเป็นแผ่นที่มีจุดเด่น คือ เป็นวัสดุโปร่งแสง วัสดุผลิตด้วยเรซิ่นและเส้นใยไฟเบอร์กลาสเสริมความแข็งแรง มีรูปลอนหลากหลาย แต่รูปแบบลอนที่เป็นที่นิยมที่สุดจะเรียกว่าลอน “กันสาด” จะมีลักษณะลอนเป็นลอนลูกฟูกเล็ก ๆ มีน้ำหนักเบาสามารถติดตั้งได้ง่ายเพียงการใช้สกรูยึดติดกับโครงสร้าง ทนทานต่อการผุกร่อนได้ดี ไม่เปลี่ยนรูปทรงเมื่อโดนความร้อนสูง มีฟิล์มป้องกันรังสี UV บางรุ่นมีชั้นเคลือบพิเศษที่สามารถสะท้อนความร้อนได้ มีอายุการใช้งานยาวนาน เหมาะกับบ้านหรือพื้นที่ที่ต้องการแสงสว่าง
ข้อดี : สวยงาม แสงสามารถส่องผ่านได้ ทำให้บ้านดูโปร่ง มีความทนทานสูงใช้ได้นาน
ข้อเสีย : ราคาค่อนข้างสูง
ราคา (รวมโครงสร้าง) : 2,600 บาท ต่อตารางเมตร
วัสดุหลังคากันสาด โพลีคาร์บอนเนต (Polycarbonate Roof Sheet)
แผ่นโพลีคาร์บอนเนต (Polycarbonate Roof Sheet) ผลิตจากเม็ดพลาสติก (Poly) ชนิดเทอร์โมพลาสติก ผสมด้วยสารที่มีคุณสมบัติทำให้แผ่นมีความยืดหยุ่นตัว วัสดุชนิดนี้นิยมติดตั้งเป็นหลังคาดัดโค้ง เพราะแผ่นดัดโค้งได้ตามความต้องการ วัสดุมีความคงทนไม่มากนัก ตัวแผ่นจะมีช่องว่าง เมื่อเกิดการกรอบแตกจะทำให้น้ำและฝุ่นเข้าไปในแผ่น อาจจะทำให้เกิดคราบดำและตะไคร่น้ำได้ มีหลายความหนาให้เลือกและยังมีรุ่นพิเศษที่มีชั้นฟิล์มป้องกันรังสี UV อีกด้วย
ข้อดี : ราคาถูก โปร่งแสง
ข้อเสีย : มีเสียงดังเมื่อฝนตก ขยายตัวมากทำให้เกิดความเสียหายกับแผ่น เวลาเปลี่ยนต้องเปลี่ยนยกแผ่น แผ่นกรอบแตกหักได้ง่าย เกิดคราบดำและตะไคร่ในแผ่นเมื่อใช้งานไปได้ระยะเวลาหนึ่ง
ราคา (รวมโครง) : 1,200-1,400 บาท ต่อตารางเมตร
วัสดุหลังคากันสาด อะคริลิค (Acrylic Roof Sheet)
เป็นแผ่นหลังคากันสาดที่มีลักษณะใสเหมือนกระจก ตัวแผ่นมีความหนาประมาณ 5-6 มิลลิเมตร เป็นวัสดุแข็งแรงทนทานติดตั้งแทนกระจกที่ใช้ในงานกันสาด มีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับกระจกที่เป็นวัสดุที่ให้ความใสมากที่สุดในกลุ่มวัสดุหลังคาโปร่งแสง เหมาะสำหรับอาคารที่ต้องการรูปแบบกันสาดที่ดูทันสมัย มีคุณสมบัติป้องกัน UV ในรุ่นที่มีฟิล์ม ตัวแผ่นสามารถทนแรงกระแทกได้ไม่มากเพราะมีความยืดหยุ่นค่อนข้างน้อย หากมีของตกใส่มีโอกาสที่จะแตกหักได้สูง
ข้อดี : สวยงาม ดูทันสมัย มีความใสเหมือนกระจก
ข้อเสีย : ราคาสูงมาก ผู้ติดตั้งต้องมีความชำนาญ ด้วยความใสเมื่อมีคราบสกปรก หรือมีสิ่งของตกอยู่ด้านบนจะเห็นได้อย่างชัดเจน ต้องหมั่นทำความสะอาด แผ่นขยายตัวสูง
ราคา (รวมโครง) : 4,500 – 5,500 บาท ต่อตารางเมตร